งานแฮนด์เมดเก๋ๆ ชิคๆ อย่างกระเป๋าเป้ที่มีสีและลวดลายอย่างเท่เลยใบนี้ ทำจากไม้ไผ่ที่ถูกเหลาให้เป็นเส้น…เอามาสานกันให้เป็นลวดลายเล็กๆ ละเอียดๆ เติมมุมมองด้านดีไซน์ลงไปให้ออกมายิ่งทันสมัย ไม่เท่านั้น “งานคราฟท์” นี้ของไทยยังทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ลายไทยที่มีรายละเอียดงดงามและเรื่องราวของงานฝีมือให้โลกรู้จัก
ความลับเบื้องหลังมหัศจรรย์แห่งความสวยงามนี้ ยังมีเรื่องของความแข็งแรงสำหรับการใช้งานอย่างทนทานได้ ซ่อนอยู่ด้วย นับเป็นอีกผลงานอะเมซซิงฝีมือคนไทยแท้ๆ เพราะยิ่งผลงานชิ้นเล็ก ไม้ไผ่ที่ใช้สานสร้างลวดลายและขึ้นรูปเป็นของใช้แต่ละอย่าง ยิ่งต้องมีขนาดเล็กลงไปด้วย
รู้หรือไม่ แหล่งผลิตเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนี้อยู่ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรีนี่เอง ที่นี่มีชุมชนที่สืบสานงานศิลปหัตถกรรมอยู่มากมายหลายแห่ง
หนึ่งในนั้นคือศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ ที่รวบรวมช่างฝีมือระดับประเทศ สร้างสรรค์และพัฒนางานหัตถศิลป์ชั้นครู จักสานลวดลายเฉพาะ อย่างลายดอกพิกุล ที่มีความละเอียดอ่อนและประณีตงดงามกว่าใคร ให้ผู้ที่หลงรักในงานฝีมือได้เป็นเจ้าขอ
จักสานไม้ไผ่งานภูมิปัญญาไทย
หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่า ทำไมงานจักสานไม้ไผ่แห่งพนัสนิคมถึงมีมูลค่าสูง?
คำตอบอยู่ที่การสร้างงานสานอันแสนประณีตละเอียดละออ ที่สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทุกขั้นตอนจากเริ่มต้นจนจบออกมาเป็นกระเป๋าเก๋ๆ ล้วนมาจากมันสมองและสองมือของช่างฝีมือมากประสบการณ์ เริ่มด้วยการสรรหาไม้ไผ่นวลคุณภาพดี…ไม้ไผ่ชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษ ผิวละเอียดเนียน เนื้ออ่อน หากแต่เหนียว แข็งแรง สามารถจักเป็นเส้นตอกได้ง่าย ซึ่งไม้ไผ่เหล่านี้มีอย่างอุดมสมบูรณ์ในเขตพนัสนิคม
จากนั้นกระบวนการแปรรูปไม้ไผ่ก็เริ่มต้นขึ้น ด้วยการขูดเอาผิวด้านนอกส่วนที่มีความมันของไผ่ออก ซึ่งใช้เวลาถึงวันละ 7-8 ชั่วโมง ก่อนมาผ่าให้เป็นชิ้นบางขึ้น
ดูเหมือนง่ายเมื่อเห็นคุณป้า คุณน้าบางคนก็ทำได้อย่างสบายๆ แต่บอกเลยว่าการผ่าไม้ไผ่ให้แยกออกจากกันต้องอาศัยความชำนาญ บางคนออกกำลังกายมาตลอดยังผ่าเป็นท่อนเล็กๆ สวยงามไม่ได้
จากนั้นความพิถีพิถันยังเกิดขึ้นในช่วงที่ช่างสานเอาเส้นไผ่ที่ตอกออกมาแล้วแทงทะลุไปในอุปกรณ์ทรงกลม เช่น ฝากระป๋องนมที่เจาะรูถี่ๆ เพื่อให้เส้นตอกเสมอเท่ากันทุกเส้น ซึ่งช่างฝีมือเรียกกันว่าช่วง ‘ชักเลียด’ นั่นเอง ได้เส้นตอกมาแล้วจากนั้นเป็นช่วงที่ต้องใช้สมาธิและเวลาอย่างมาก นั่นคือการสาน…ที่ค่อยๆ ถักเส้นตอกอย่างละเอียดจนเป็นชิ้นงาน
“ไม้ไผ่เส้น” ที่เอามาสานนี่ มีขนาดตั้งแต่เป็นแผ่นเหมือนริบบี้ไซส์เล็ก ไปจนเล็กเกือบเท่าเส้นผม…น่าอะเมซซิงไหมล่ะ?
…ลายพิกุลบนกระเป๋า ความน่าทึ่ง! ขั้นกว่า…
ลวดลายดอกพิกุลสะท้อนความเป็นพื้นบ้านไทยแล้วยังเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนที่ “ทรงคุณค่า” เพราะต้องใช้ฝีมือขั้นสูงในการสานจนถึงขนาดที่เรียกว่าข้ามไปสู่การเป็นงานศิลปะที่แสดงอัตลักษณ์ฝีมืองานสานของไทยเลยทีเดียว
ความงดงามของลายพิกุลที่เกิดจากการทำงานสานไม้ไผ่นี้ ยังมีรายละเอียดที่หลากหลาย ต่อยอดจากลายดอกพิกุลพื้นฐานให้ซับซ้อนยิ่งขึ้นอีก ไม่ว่าจะเป็นลายพิกุลร่วง พิกุลดอกบัว พิกุลลายดอกแหน พิกุลดาวล้อมเดือน หรือพิกุลลายไทย ลายไทยนี้ล้วนสร้างความน่าทึ่งด้วยการจำลองเอาดอกไม้ไทยดอกเล็กๆ ลงมาอยู่ในงานจักสานนั่นเอง
ตัวเอกอย่างลายดอกพิกุลที่ถูกสานออกมาเป็นดอกไม้กระจิ๋วหลิวดังกล่าว ต้องใช้เวลาทำร่วมสามเดือนเลยทีเดียว กว่าจะประกอบกันเป็นชิ้นงานที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นข้าวของเครื่องใช้ตามแบบวิถีชีวิตแต่เก่าก่อน ไปจนถึงผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ที่มีความสวยงามหลากหลายรูปแบบที่ทันสมัยถูกใจคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ